ขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) นั้น ภาษาในโลกโซเชียลก็เริ่มมีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่เพื่อใช้ล้อเลียนผู้สูงวัยด้วยคำว่า มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง และทางฝั่งผู้สูงวัยก็มักดูถูกดูแคลนเด็กรุ่นใหม่ว่าขาดความอดทนและก้าวร้าว
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ บริษัท สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย ใจเอื้อ โกศลธนศังกร , วิธิวัสส์ ศุภศิริวัฒนกุล ผลิตละครเรื่อง “รถรางเที่ยวสุดท้าย” จากบทประพันธ์/บทโทรทัศน์โดย สมเกียรติ วิทุรานิช กำกับการแสดงโดย จีรภา ระวังการณ์ ละคร ความยาว 12 ตอน ตอนละ 52 นาที โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำประเด็นความขัดแย้งทางความคิดของคนสองรุ่น คือคนรุ่นเจน Y (Millennial) กับคนรุ่นเจน B (Baby Boomer) มาเป็นตัวละครหลักของเรื่อง เพื่อนำเสนอเรื่องราวให้คนทั้งสองรุ่นได้หยุดคิด และทำความเข้าใจกับทัศนคติของตัวเองเป็นหลัก
ตัวละครหลักของทั้งสองฝั่งจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นคู่ โดยให้คนรุ่นเจน Y มีตัวละครที่ชื่อ ภราดร (พลวิชญ์ เกตุประภากร) และ นที (กิตติภัทร แก้วเจริญ) คนหนึ่งแข็งกร้าวอีกคนอ่อนโยน เพื่อให้เขาทั้งสองทำหน้าที่คอยเตือนสติกัน ด้านรุ่นเจน B ก็มีตัวละครที่ชื่อ อารักษ์ (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) และ บริพัตร (สมภพ เบญจาทิกุล) ซึ่งมีอุปนิสัยและทัศนคติที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีจุดประสงค์เช่นเดียวกันกับตัวละครรุ่นเจน Y
เมื่อตัวละครทั้งสี่โคจรมาเจอกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ภราดร และ นที ต้องการมาหาข้อมูลจาก อารักษ์และบริพัตร เพื่อนำเรื่องราวชีวิตของพวกเขาไปเขียนเป็นบทภาพยนตร์ ระหว่างทางที่วัยรุ่นทั้งสองรับรู้เรื่องราวชีวิตของผู้อาวุโสทั้งคู่ พวกเขาก็ได้เรียนรู้และเข้าใจบริบทของสังคมไทยในอดีตมากขึ้น รวมถึงเรื่องราวรักสามเส้าระหว่าง อารักษ์ บริพัตร และ มุกดา (นฤมล นิลวรรณ) ในอดีตก็ได้ทับซ้อนกับรักสามเส้าของ นที ภราดร และซอแก้ว (นัฐรุจี วิศวนารถ) ในปัจจุบัน แต่ชีวิตรักของผู้อาวุโสในอดีต ได้นำไปสู่ความล้มเหลว เพราะค่านิยมของสังคมในยุคนั้นทำให้ความรักของพวกเขามีปัญหา ส่วนชีวิตรักของ ภราดร นที และซอแก้วนำไปสู่การคลี่คลาย เพราะตัวละครกล้าเผชิญหน้ากับความจริงมากขึ้น ท้ายสุดแม้อารักษ์ จะมีผู้หญิงคนใหม่ บุหงา (รัดเกล้า อามระดิษ) แม่ของซอแก้ว เป็นผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับการตอบแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ แต่ชีวิตรักก็ยังล้มเหลว ทำให้อารักษ์ ต้องตัดสินใจระหว่างการเคลื่อนตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือจะหยุดนิ่งตรึงตัวเองอยู่กับอดีตที่เขาจดจำเฉพาะสิ่งสวยงามและซุกซ่อนความล้มเหลวไว้ใต้พรม
“รถรางเที่ยวสุดท้าย” เป็นละครที่เป็นภาพสะท้อนของยุคแต่ละยุค ทำให้เห็นความขัดแย้งของคนสองรุ่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะได้เห็นวิธีคิดจากคนรุ่นเก่า ที่มีทั้งมุมมองดีและไม่ดี และมุมมองของเด็กที่มองว่าทำไมผู้ใหญ่ต้องบังคับ ต้องบงการชีวิต ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นทั้งในมุมมอง บริบทของทั้ง 2 ฝ่าย และสามารถเข้าใจในความคิดของคนทั้ง 2 รุ่นได้ โดยได้นักแสดงมากฝีมือชั้นครูอย่าง นิรุตติ์ ศิริจรรยา, สมภพ เบญจาธิกุล, รัดเกล้า อามระดิษ, ภารดี วงษ์สวัสดิ์ ร่วมด้วยนักแสดงนิวเจนอย่าง กิตติภัทร แก้วเจริญ, พลวิชญ์ เกตุประภากร และ นัฐรุจี วิศวนารถ พร้อมด้วยนักแสดงสมทบอีกคับคั่ง อาทิ ภูริต พลอยมีค่า, ภารดี วงษ์สวัสดิ์ ที่มาร่วมกันสร้างความกลมกล่อมให้กับ การทำความเข้าใจคนทั้งสองรุ่น บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า คนที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นั้นจำต้องยอมรับกฏธรรมชาติที่ว่า สิ่งมีชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง
ติดตามชมละครเรื่อง “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ได้ทุกวันศุกร์ – อาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 เริ่มศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 จะเสนอเป็นตอนแรก และยังสามารถติดตามชมได้ที่ VIPA.me
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram
▪ Website : www.thaipbs.or.th▪ Application : Thai PBS